สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1606 บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ
(๑) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(๒) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ
(๓) ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง
(๔) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น
(๕) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด

วรรคสอง เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8023/2538 ผู้ร้องถูกเจ้าพนักงานตำรวจ จับกล่าวหาว่า ผู้ร้องเป็นผู้ยิงเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ต่อมาผู้ร้องถูกส่งฟ้องต่อศาลในข้อหาดังกล่าวซึ่งผู้ร้องให้การปฏิเสธ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ดังนั้น ถ้าหากต่อมามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ร้องได้เจตนากระทำให้เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องก็เป็นบุคคลที่ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(1) ซึ่งเป็นการถูกกำจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายกรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639ที่ผู้สืบสันดานของผู้ร้องจะมีสิทธิรับมรดกแทนที่ผู้ร้อง ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมเพียงคนเดียวของเจ้ามรดกและมรดกของผู้ตายก็มีเฉพาะที่ดินแปลงเดียว ทั้งการที่ผู้ร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายครั้งนี้ความประสงค์ก็เพื่อจัดการโอนที่ดินมรดกแปลงเดียวดังกล่าวมาเป็นของผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายอาจถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย และผู้ที่ผู้ร้องขอให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นคือผู้สืบสันดานของผู้ร้องซึ่งอาจเป็นผู้ที่เสียประโยชน์จากการเป็นผู้รับมรดกแทนที่ผู้ร้องอันมีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของผู้ตาย ดังนั้นจึงไม่มีเหตุสมควรตั้งผู้สืบสันดานของผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ประกอบกับไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า การขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายครั้งนี้ นอกจากเพื่อจัดการโอนที่ดินมรดกของผู้ตายแก่ผู้ร้องแล้ว จำเป็นต้องมีการกระทำการอย่างใด ๆ แก่ที่ดินมรดกดังกล่าวอีกจึงไม่มีความจำเป็นรีบด่วนในการตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามผู้ร้องขอ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2536 คำฟ้องโจทก์แม้จะมีข้อความว่าพินัยกรรมปลอม แต่ก็มีข้อความต่อไปซึ่งเป็นการอธิบายว่าพินัยกรรมทำขึ้นขณะเจ้ามรดกมีอายุ94 ปี ไม่มีสติรู้สึกผิดชอบ หลงลืมและฟั่นเฟือน ไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้แล้ว และไม่ทำตามแบบจึงตกเป็นโมฆะ หรือเสียเปล่ามิใช่คำฟ้องหลายนัยขัดกัน คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยฉ้อฉลให้เจ้ามรดกทำพินัยกรรมแต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่าเป็นเช่นนั้น คงมีพยานปากหนึ่งอ้างว่า ผ่านไปเห็นการทำพินัยกรรมโดยบังเอิญ ขณะเห็นก็ยังไม่ทราบว่าที่บ้านจำเลยทำอะไรกัน และพยานปากนี้ก็ไม่ได้ระบุว่าจำเลยฉ้อฉลเจ้ามรดกในการทำพินัยกรรมแต่อย่างใด เช่นนี้พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า จำเลยได้ฉ้อฉลเจ้ามรดกให้ทำพินัยกรรม จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(4) การที่พินัยกรรมระบุว่า ทรัพย์สินส่วนที่เหลือจากที่ได้ดำเนินการตามข้อ 2 รวมทั้งทรัพย์สินอื่นซึ่งมีภายหลังจากที่ได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้ทั้งหมดขอแบ่งเป็น 2 ส่วนเท่ากันและยกให้ผู้รับพินัยกรรมนั้น เป็นการระบุให้ทรัพย์สินอื่นที่ได้มาภายหลังทำพินัยกรรมให้เอามาแบ่งแก่ผู้รับพินัยกรรมฉบับนี้ จึงไม่รวมที่ดินพิพาทซึ่งเจ้ามรดกทราบว่าตนมีสิทธิก่อนทำพินัยกรรมและไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจนเช่นเดียวกับทรัพย์รายอื่น ๆดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรม ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยนำผลประโยชน์จากทรัพย์มรดกเป็นเงินเดือนละ 2,500 บาท ชำระแก่โจทก์นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเป็นต้นไปจนกว่าจะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้น โจทก์จำเลยมิได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มิได้พิพากษาแก้ในส่วนนี้ กรณีไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องฎีกาในประเด็นนี้อีก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013/2534 ผู้ร้องอ้างสิทธิในคำร้องขอจัดการมรดกว่าร้องขอในฐานะที่ผู้ร้องเป็นผู้รับพินัยกรรม มิได้ร้องขอในฐานะทายาทโดยธรรมด้วย เมื่อผู้คัดค้านอ้างในคำคัดค้านว่าพินัยกรรมดังกล่าวผู้ร้องทำปลอมขึ้นปัญหาว่าพินัยกรรมปลอมหรือไม่ย่อมเป็นประเด็นที่จำต้องวินิจฉัยเพราะหากพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมที่ผู้ร้องทำปลอมขึ้นผู้ร้องย่อมถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(5) จึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดก แม้ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีในศาลชั้นต้นก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ ซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีที่ถูกต้องได้ ท. ซึ่งมีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมข้อ 9 และข้อ 10 ตายก่อนเจ้ามรดก ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้จึงเป็นอันตกไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1698(1) และต้องบังคับตามมาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคสอง กล่าวคือต้องตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ซึ่งรวมทั้งผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ศาลย่อมใช้ดุลพินิจคำนึงถึงความเหมาะสมหรือพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้คัดค้านมีความประพฤติดีไม่เคยทำร้ายหรือเป็นหนี้เจ้ามรดกดังคำพยานผู้ร้อง ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างเป็นเหตุไม่สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกก็เป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 จึงสมควรตั้งผู้ร้องและ ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน.